หน้าฝนเป็นช่วงที่บ้านเราผ่านความชื้นมาเต็มที่ ซึ่งความชื้นที่คาค้างอยู่เป็นเวลานานมักตามมาด้วยเชื้อรา และผนังบ้านซึ่งไม่ว่าจะเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนภายนอก หรือผนังเบาเช่นผนังยิปซั่มภายในห้อง ซึ่งโยกย้ายหนีความชื้นไม่ได้ และยังมีคุณสมบัติในการกักเก็บความชื้น ซึ่งหากโดนความชื้นเข้าไปนาน ๆ เข้า เชื้อราก็จะเกิดเป็นปื้นดำตามผนังได้เช่นกัน และคราบดำที่เกิดขึ้น นอกจากจะไม่ชวนมองแล้ว หากเกิดขึ้นภายในห้องหับซึ่งอากาศวนเวียนอยู่ในที่จำกัด ก็จะส่งผลเสียต่อสุขอนามัยภายในห้องอีกด้วย

ความชื้นในผนัง กำแพง คืออะไร?

ในภาษาทางการหรือทางวิศวกรรมโยธาเราจะเรียกว่าอาการนี้ว่า “Damp” ถ้าอยู่ในผนังกำแพงก็เรียกว่า Wall Damp หรือ Building Damp ถ้าอยู่ในเสื้อผ้าเครื่องใช้ เราก็เรียกว่า cloth damp ประมาณนี้ครับ.. Damp คืออะไร คำตอบง่ายๆครับ มันก็คือ ความชื้นที่สะสมอยู่ในเนื้อวัสดุของสิ่งนั้นนั้นเอง ยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เหตุการณ์หลังน้ำท่วม บ้านที่อยู่อาศัย อาคาร หลายแหล่งจะมีความชื้นสะสมอยู่ในผนังกำแพงและเฟอร์นิเจอร์ หรือในกรณีหนึ่งคือ เมื่อเราซักผ้าแล้วแต่นำไปตากในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือแสงแดดไม่เพียงพอ ทำให้ผ้ายังแห้งไม่สนิทและมีกลิ่นอับชื้น (เกิดขึ้นในเมืองที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นเช่นประเทศไทยมากกว่าในเขตประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น)

ความชื้นมาจากช่องทางไหนได้บ้าง

ความชื้นในบ้านและในอาคารมาได้จากหลายทิศทาง อาทิ

  • ความชื้นจากน้ำที่มาสัมผัสกับผนังโดยตรง เช่น ถูกฝนสาดเข้าผิวหน้าของผนังอาคาร
  • เกิดจากการดูดซึมน้ำในดิน มักเกิดกับบ้านที่ไม่มีการระบายน้ำที่ดี หรือสร้างอยู่ในพื้นที่รับน้ำมากก่อน
  • เกิดจากฝน ไหล รั่ว ซึมเข้าสู่อาคารจากรอยร้าวรั่วของผนังหรือหลังคา
  • ความชื้นจากห้องน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความชื้นมากที่สุดในบ้าน จึงต้องระวังการรั่วซึมที่จะทำให้ผนังห้องน้ำ ฝ้าเพดาน ประตู เสียหาย และอาจจะลามไปส่วนอื่น ๆ ได้
  • รอยรั่วซึมจากระบบท่อประปา หรือท่อระบายน้ำต่างๆ ที่บกพร่องเสียหาย และไม่มีการระบายน้ำออกจากตัวบ้านลงสู่ท่อน้ำสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ
  • เกิดจากน้ำท่วมขังจากภัยธรรมชาติ
  • การระบายอากาศทำได้ไม่ดีพอ เนื่องจากไม่มีช่องลมในขนาดและจำนวนที่เหมาะสม มักเกิดกับห้องชุดหรือทาวน์เฮาส์ที่ไม่สะดวกเปิดหน้าต่าง อากาศจึงถ่ายเทได้ไม่เต็มที่
  • ช่องแสงในบ้านมีไม่เพียงพอ  การติดตั้งช่องแสงขนาดเล็กในทิศทางอับแสงและมีจำนวนน้อย ทำให้บ้านการระบายความชื้นทำได้ยาก

 

วิธีแก้ไขปัญหาที่ CEALECT ขอแนะนำให้เจ้าของบ้านรีบทำทันทีหลังจากเห็นรอยความชื้นขึ้นมาที่เสาและผนัง

1. รีบสำรวจหาที่มาของความชื้นว่าเกิดจากอะไร บางครั้งอาจจะมาจากความชื้นของดินใต้บ้าน แต่บางทีก็อาจจะเกิดจากปัญหาการแตกร้าว หรือ รั่วซึมของระบบน้ำภายในบ้านของเราเอง

2. ขุดเพื่อหาทางระบายน้ำออกจากพื้น เป็นการกำจัดความชื้นไม่ให้เกิดขึ้นอีก บางครั้งอาจจะเป็นปัญหาที่พบในช่วงฤดูฝนอย่างเดียว แต่ก็ต้องหาทางจัดการ เพราะอย่างที่บอก ผลกระทบมันอันตรายเกินกว่าจะชะล่าใจได้

3. ตรวจสอบดูสภาพของผนัง และเสา โดนเฉพาะเสาที่รับน้ำหนัก ต้องดูว่าเหล็กภายในเป็นสนิมผุกร่อนมากน้อยแค่ไหน หากเป็นมาก ต้องมีการเสริมเหล็ก และเทคอนกรีตเพื่อขยายขนาดของเสาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงอย่างเร่งด่วน

4. ทำให้ผนังหรือเสาแห้ง ทำความสะอาดเอาสีที่ลอกออก และอยากขอบอกให้ทราบว่าส่วนมากปัญหาไม่ได้อยู่แค่สี แต่มันจะมีเชื้อราที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาด้วย ต้องทำความสะอาดกำจัดเชื้อรา ปล่อยให้แห้งสนิทแล้วค่อยทาสีใหม่

รู้จักรู้ใจเรื่องความชื้นในบ้านกันพอหอมปากหอมคอกันแล้ว หลังจากอ่านจบแล้วคุณพ่อบ้านแม่บ้านก็ลองสำรวจรอบ ๆ บ้านดูกันนิดนะครับว่า ที่บ้านของเรามีร่องรอยความชื้นที่สร้างความเสียหายให้บ้านบ้างหรือเปล่า ถ้ามีก็ควรจะรีบแก้ไขกันนะครับ บ้านไอเดียเราอยากจะเห็นเพื่อนบ้านทุกหลังมีสุขภาพร่างกายที่ดี ในบ้านที่น่าอยู่กันทุก ๆ คนครับ