อุบัติเหตุต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเก่าที่ระบบไฟฟ้าเริ่มเสื่อมสภาพตามกาลเวลา จนกลายเป็นปัญหาเกิดไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช๊อต หรือเกิดไฟไหม้ ซึ่งอาจทำให้คนในบ้านได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่อันตรายจากไฟฟ้า เราสามารถป้องกันได้ ถ้าเราใส่ใจและไม่ประมาท

พลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งที่สำคัญของโลก แต่ถึงแม้ประโยชน์ของพลังงานไฟฟ้าจะมีมากมายแต่ก็แฝงไปด้วยความอันตรายมากมายเช่นกันเราจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นดังนั้น เพื่อเป็นการลดอันตรายจากไฟฟ้า วันนี้เรามีวิธีป้องกันมาฝากกัน


1.ตรวจเช็คมิเตอร์ไฟฟ้า

เราควรตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้านให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เบื้องต้นให้ทดสอบมิเตอร์ไฟฟ้าก่อน โดยปิดสวิตช์ไฟทุกจุด รวมทั้งถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆออกให้หมดจากนั้นไปดูมิเตอร์ที่หน้าบ้านว่าเฟืองเหล็กยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่แสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว ให้รีบแก้ไขโดยด่วน

นอกจากนี้ให้ลองตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น เครื่องตัดไฟรั่วว่ายังทำงานดีอยู่หรือเปล่า ด้วยการกดปุ่มทดสอบหรือ Test (ควรกดปุ่มทดสอบนี้เป็นประจำทุกๆ 1-3 เดือน) ถ้ายังใช้ได้ดีสวิตช์หรือคันโยกจะตกลงมาทันทีเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า รวมถึงเบรกเกอร์ลูกย่อยยังสามารถใช้ปลดวงจรไฟฟ้าได้หรือไม่ หากพบอุปกรณ์ชำรุดหรือเสียหายก็หามาเปลี่ยนใหม่ให้เรียบร้อย

2.ตรวจเช็คสายไฟฟ้า

ตรวจสอบสายไฟฟ้าดูว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายบ้าง โดยเฉพาะสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดาน อาจเปื่อยกรอบเนื่องจากผ่านการใช้งานมานาน หรือถูกพวกหนูกัดแทะฉนวนจนสายขาดได้ (ในกรณีที่ไม่ได้หุ้มสายไว้ด้วยท่อร้อยสายไฟ) ถ้าพบก็ต้องเปลี่ยนใหม่

3.ตรวจเช็คเต้ารับไฟฟ้า

จากนั้นก็มาตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้าดูว่าหลวม มีรอยแตกร้าวหรือรอยไหม้บ้างหรือไม่ ถ้าเต้ารับหลวมก็ขันสกรูให้แน่นดังเดิม แต่ถ้ามีการแตกร้าวหรือพบรอยไหม้ก็ควรเปลี่ยนใหม่ และควรทดสอบเต้ารับทุกจุดว่ามีไฟหรือเปล่า โดยใช้ไขควงวัดไฟ ทดสอบดูก็ได้

4.ตรวจเช็คเครื่องใช้ไฟฟ้า

ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการจับต้องขณะใช้งาน อาทิ เครื่องซักผ้า โดยดูว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่ ด้วยการใช้ไขควงวัดไฟแตะที่ตัวเครื่องในส่วนที่เป็นโลหะ ถ้าหลอดไฟติดหรือเรืองแสงแสดงว่ามีไฟรั่วเกิดขึ้น ให้หยุดใช้งานทันที และตรวจเช็คว่ามีการติดตั้งสายดินถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ติดตั้งสายดินให้เรียบร้อย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ไม่เกิดอันตรายจากไฟฟ้าดูดนั่นเอง

คำแนะนำการวางระบบไฟฟ้าเพิ่มเติม

  1. การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กำลังไฟเยอะๆ ควรแยกเบรกเกอร์ของใครของมันเพื่อความปลอดภัย

2. แยกสายเมนไฟในแต่ละชั้นพร้อมตู้ควบคุมไฟ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน กรณีที่ไฟฟ้าชั้นใดชั้นหนึ่งมีปัญหา อีกชั้นจะยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ และง่ายต่อการซ่อมบำรุง

3. การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปลั๊กหรือสวิตช์ด้านนอกบ้านที่มีโอกาสสัมผัสกับน้ำ ความชื้น หรือละอองฝน จะต้องติดตั้งชนิดมีฝาปิดกันน้ำเสมอเพื่อความปลอดภัย

4. การเดินสายไฟฝังในผนังจะต้องร้อยท่อเสมอ ใช้ได้ทั้งท่อที่ทำจาก EMT หรือท่อ PVC ซึ่งก็แล้วแต่งบประมาณในกระเป๋าของแต่ละคนค่ะ

5. สายไฟฟ้าที่อยู่บนฝ้าเพดานจะต้องร้อยท่ออ่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยจากหนูที่ชอบมากัดสายไฟ รวมถึงสภาพที่เปลี่ยนแปลงทั้งความร้อนและความชื้นที่อยู่บนฝ้าเพดาน เพื่อยืดอายุการใช้งานของสายไฟในบ้านคุณ

การติดตั้งระบบไฟฟ้า ท่านควรเลือกใช้ช่างไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสมาชิกภายในบ้าน และที่สำคัญหากคุณพบสายไฟฟ้าในบ้านมีปัญหา หรือเริ่มเสื่อมสภาพ อย่าซ่อมเองเป็นอันขาด ควรตามผู้รู้หรือช่างมาซ่อมและตรวจดูดีกว่าเพราะป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นได้

Cr. gurubaan.com baanlaesuan.com