อย่าลืม! ไปเสีย “ภาษีที่ดินใหม่” 

ภาษีที่ดินใหม่ หรือพระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 โดยเป็นการกำหนดให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องเสียภาษีภายในเดือนเมษายนของทุก ๆ ปี แต่ด้วยกฎหมายนี้เป็นกฎหมายใหม่ และกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่สามารถออกกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จได้ ดังนั้นในปีนี้ที่เป็นปีแรกของการเก็บภาษี จึงได้มีการเลื่อนการเสียภาษีออกไปภายในสิ้นเดือนสิงหาคม  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน และไม่ปล่อยให้ที่ดินถูกทิ้งร้างไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา

ทั้งนี้ ยังได้มีมติจากคณะรัฐมนตรี ให้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีนี้ลงถึง 90% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

 

คนที่ต้องเสียภาษีที่ดิน ใหม่มีด้วยกัน 3 กลุ่มหลักดังนี้

1.เจ้าของที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล 
2.เจ้าของห้องชุด เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือคอนโดมิเนียม 
3.ผู้ครอบครองทรัพย์สิน ที่ทำประโยชน์ในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของภาครัฐ 

โดยแบ่งทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีออกเป็นทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้

1.เกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ใช้ทำไร่ ทำนา หรือเพาะเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ โดยรัฐจะเก็บภาษีสูงสุดเพียง 0.15% ของมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่ง 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) ภาครัฐจะทำการยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของที่เป็นบุคคลธรรมดา และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท จะเสียภาษีไม่เกิน 0.15%

2.บ้านพักอาศัย หมายถึง ที่ดิน โรงเรือน อาคาร ตึก บ้าน ตึกห้องชุด หรือลักษณะอื่นๆที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย ภาครัฐจะเก็บภาษีสูงสุดที่ 0.30% ของมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นเก็บภาษี แต่สำหรับคนที่เป็นเพียงเจ้าของบ้านแต่ไปปลูกบ้านในที่ดินของคนอื่น จะได้รับการยกเว้นก็ต่อเมื่อมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท หากมีบ้านหลายหลัง เจ้าหน้าที่จะยกเว้นภาษีให้บ้านหลังหลักเท่านั้น โดยดูจากการที่เราเป็นทั้งเจ้าของที่ดิน และเจ้าของบ้านด้วยเช่นกัน

3.พาณิชยกรรม (อื่นๆ) คือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร และโรงแรม ในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2563-2564) จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.03-0.70% โดยขึ้นอยู่กับมูลค่าของทรัพย์สิน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป จะต้องเสียภาษีไม่เกิน 1.20% 
 
4.ที่รกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ใดๆ รัฐจะเก็บภาษีในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2563-2564) ในอัตรา 0.30-0.70% ขึ้นอยู่กับมูลค่าของทรัพย์สิน และต่อไปจะเก็บภาษีสูงสุดที่ 1.20%  แต่สำหรับที่ดินที่ปล่อยให้รกร้างไม่ใช้ทำประโยชน์ติดต่อกัน 3 ปี รัฐจะเก็บภาษีเพิ่ม 0.30% ทุกๆ 3 ปี แต่รวมแล้วจะไม่เกิน 3% 

อย่างไรก็ตาม ภาษีที่ดินใหม่ฉบับนี้ ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท ได้แก่ ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ หรือใช้ในสาธารณะที่ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ , ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ สถานกงสุล สถานทูต สภากาชาดไทย มัสยิด โบสถ์ วัด และศาลเจ้า  

ดังนั้น ก่อนที่จะหมดเขตการเสียภาษีที่ดินใหม่ของปีนี้ เมื่อรู้ตัวแล้วว่าตนเองนั้น เป็นผู้เข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษี ควรรีบไปเสียให้เสร็จสิ้นเสียก่อน อย่านิ่งนอนใจ หรือปล่อยไปเฉยๆ เพราะหากเราไม่เสียภาษีที่ดินใหม่ตามกฎหมายฉบับนี้ อาจเป็นการทำผิดกฎหมายและมีโทษอื่นๆ ตามมา เช่น ถูกระงับการจดทะเบียนสิทธิ์ นิติกรรมโอนสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง , เสียเบี้ยปรับ 10-40% ของจำนวนภาษีค้างชำระ , เสียภาษีเพิ่ม ในอัตรา 1% ต่อเดือน จากภาษีที่ได้ค้างชำระไว้ อีกทั้งยังอาจรุนแรงถึงขั้นมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น 

ที่มา :  http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/6/23793_1_1593509393496.pdf
https://workpointtoday.com/saving-guru-16/
https://blog.ghbank.co.th/new-land-tax/