จะสร้างบ้านสักหนึ่งหลัง นอกจากจะต้องเก็บเงิน เตรียมเรื่องกู้แล้ว ยังต้องเตรียมตัวขออนุญาตก่อสร้างบ้านกับหน่วยงานราชการด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด

การก่อสร้างบ้าน” มีกฎหมายกำหนดเรื่องต่างๆ ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งสำคัญคือ ต้องยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง ไม่ใช่ว่าเราอยากจะสร้างก็สามารถทำได้เลย จุดประสงค์สำคัญของเรื่องนี้ก็คือเรื่องของความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารนั่นเอง และยังป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย

  นอกจากนี้เรื่องการก่อสร้างจะต้องมีแบบ ซึ่งต้องมีผู้ออกแบบคือสถาปนิกและวิศวกร และเจ้าของต้องทำการยื่นเพื่อขออนุญาตต่อทางราชการ และต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะก่อสร้างได้ นอกจากนี้การต่อเติมที่เกี่ยวกับโครงสร้างเกินกว่า 5 ตารางเมตร ก็ต้องยื่นขออนุญาตเช่นกัน (แต่ส่วนมากมักจะไม่ได้ยื่นขอถ้าไม่ได้มากจนกระทบสิทธิบ้านข้างเคียง)

ขั้นตอนในการปลุกสร้างบ้าน
  1. ในเขตที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือกฎหมายผังเมืองบ้านหรืออาคาร ที่จะปลูกสร้าง ต้องได้รับอนุญาตแบบแปลนเสียก่อนและจะสร้างเกินกว่าแบบที่ได้รับอนุญาตไม่ได้โดยยื่นคำร้อง ได้ที่สำนักงานเทศบาล สำนักงานเมืองพัทยา อำเภอ และสำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
  2. บริเวณนอกเขตควบคุมตามข้อ 1  บ้านหรืออาคารที่ปลูกสร้างไม่ต้องอนุญาตสามารถปลูกสร้างได้เลย

เมื่อปลุกบ้านหรืออาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เจ้าบ้านไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่นั้นๆ คือนายทะเบียนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ หรือผู้ช่วยนายทะเบียน ณ สำนักงานเทศบาล สำนักงานเมือง สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณีเพื่อขอเลขประจำบ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันปลุกสร้างบ้านเสร็จ หากไม่ได้ไปแจ้งตามกำหนดมีความผิดตามกฎหมายมีโทษปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท

 

หลักฐานที่จะต้องนำไปแจ้งเพื่อขอเลขประจำบ้าน

  1. หนังสือหรือเอกสารได้รับอนุญาตการปลุกสร้างบ้าน หรืออาคาร(เฉพาะเขตพื้นที่ประกาศ ใช้กฎหมายควบคุมอาคาร หรือกฎหมายผังเมือง)
  2. สำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวผู้แจ้ง กรณีผู้ที่ได้รับมอบหมาบให้นำบัตรประจำตัว ของผู้มอบและหนังสือมอบ(ถ้ามี)ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย
  3. หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ปลุกสร้างบ้าน สัญญาซื้อขาย สัญญษเช่า(ถ้ามี)
  4. ผู้แจ้งให้ยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนนดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งพร้อมหลักฐานที่นำไปแสดง

วิธีการรับแจ้ง

เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการสร้างบ้านใหม่แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่นำไปแสดง เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ก็ให้กำหนดหมายเลขประจำบ้านให้พร้อมกับจัดทำทะเบียนบ้านต่อไป โดยมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้แก้ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการในเรื่องการย้ายบุคคลเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านในโอกาสต่อไป หรือดำเนินการในคราวเดียวกันก็ได้ ส่วนเลขประจำบ้านที่นายทะเบียนกำหนดให้นั้น ให้เจ้าบ้านไปจดทำเลขประจำบ้านติดไว้หน้าบ้านหรือที่รั้วบ้าน ให้เห็นได้ชัดเจน

มาดูเอกสารที่จะต้องยื่นขออนุญาติก่อสร้างนั้นมีอะไรบ้าง

1.เอกสารแสดงสิทธิของที่ดิน

  ส่วนใหญ่มักจะเป็นโฉนดที่ดิน แสดงว่าจะสร้างในที่ดินใด ถ้าผู้ที่จะสร้างบ้านไม่ใช่เจ้าของที่ดิน จะต้องมีหลักฐานการยินยอมให้สร้างในที่ดินนี้ได้

2.แบบก่อสร้าง จัดเตรียมโดยสถาปนิกและวิศวกร

  โดยรายละเอียดในแบบก่อสร้างจะต้องแสดงผังบริเวณรวม และแสดงแบบรายละเอียดของชั้นต่างๆ รวมถึงแบบแสดงรูปด้านทุกด้าน แสดงรายละเอียดทั้งหมดของงานสถาปัตยกรรมและงานวิศวกรรม

3.รายการคำนวณ ของวิศวกรโครงสร้าง

  เป็นการแสดงว่าอาคารได้ผ่านการออกแบบโดยวิศวกรแล้ว เพื่อให้มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับก่อสร้างและใช้งานได้

4.เอกสารแสดงการมอบอำนาจให้ดำเนินการแทนในเรื่องการขออนุญาตก่อสร้าง

  เพราะส่วนมากแล้ว เจ้าของมักจะไม่ได้เป็นผู้ยื่นเรื่องเอง จึงต้องมีเอกสารการมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน

5.เอกสารแสดงการเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

  ซึ่งต้องเป็นวิศวกร และส่วนมากผู้ออกแบบมักจะเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานในตอนยื่นขออนุญาตก่อสร้าง และเมื่อใบอนุญาตก่อสร้างออกแล้ว อาจเปลี่ยนวิศวกรผู้ควบคุมงานเป็นผู้อื่นแทนครับ

  ดูแล้วอาจจะคิดว่าเอกสารช่างมากมาย-ยุ่งยาก แต่การมีเอกสารมากมายก็เพื่อให้เป็นหลักฐานยืนยันว่าบ้านของเราได้รับการก่อสร้างอย่างมั่นคงและไม่สร้างผลกระทบแก่ผู้อื่น และที่สำคัญผู้ออกแบบเป็นผู้จัดเตรียมและดำเนินการให้ (เนื่องจากเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายหากมีปัญหา)

อาคารแต่ละประเภทก็มีข้อกำหนดที่ต่างกัน เช่น อาคารสาธารณะก็จะมีข้อกำหนดต่างจากอาคารพักอาศัยส่วนตัว เนื่องจากจะต้องคิดถึงความปลอดภัยของผู้มาใช้พร้อมกันจำนวนมากๆ

ตัวอย่างการออกแบบบ้านเดี่ยว ที่ต้องกำหนดการใช้พื้นที่ตามกฎหมาย

  กรณีของบ้านเดี่ยวต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ดิน และหากมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ต้องมีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า 1.00 เมตร ยกเว้นบ้านอยู่อาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร และผนังที่ไม่มีช่องเปิด สามารถสร้างห่างจากเขตที่ดินน้อยกว่า 1 เมตรได้ (ถ้าห่างเขตที่ดินน้อยกว่า 50 เซนติเมตร ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินด้านนั้นด้วย)

  ได้ข้อมูลเรื่องการออกแบบและขออนุญาตก่อสร้างกันไปบ้างแล้ว ความจริงเเล้วเรื่องทั้งหมด ผู้ออกแบบหรือผู้รับเหมาก่อสร้างจะเป็นคนดำเนินการให้ โดยเฉพาะสถาปนิกซึ่งจะทำหน้าที่ผู้ออกแบบตามความต้องการของเรา และอยู่ในกรอบของกฎหมายที่จะอนุญาตให้ก่อสร้างได้

การต่อเติมบ้าน กับการขออนุญาตก่อสร้าง?

ไม่ใช่แค่เพียงการก่อสร้างบ้านใหม่เท่านั้นที่ต้องขออนุญาตก่อสร้าง แม้แต่การต่อเติมบ้านก็จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้าง โดยการต่อเติมที่เข้าข่ายต้องขออนุญาต คือ การต่อเติมที่เกี่ยวกับโครงสร้างเกินกว่า 5 ตารางเมตร แต่ที่ผ่านมาเจ้าของบ้านหลายรายที่ต่อเติมบ้านเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็จะไม่ไปยื่นขออนุญาต และคิดว่าไม่เป็นอะไร ซึ่งมักจะเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้านหรือชุมชนใกล้เคียง

กรณีที่การต่อเติมที่เกี่ยวกับโครงสร้างเกินกว่า 5 ตารางเมตร ซึ่งต้องขออนุญาตก่อสร้าง ถ้าเจ้าของไม่ไปขออนุญาตให้ถูกต้อง หากเกิดปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับชุมชน เพื่อนบ้านใกล้เคียง จะกลายเป็นความผิดร้ายแรง จึงแนะนำว่า ควรยื่นขออนุญาตให้ถูกต้องตั้งแต่แรก แต่ก็มี การต่อเติมบ้านบางประเภท ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตต่อเติม